วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554



ผักปั๋ง
วงศ์ : BASELLACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Basella albe Linn. (ผักปลังขาว)
: Basella rubra Linn. (ผักปลังแดง)
ชื่อสามัญ : East indian spinach, Malabar Nightshade, Indian spinach
,Ceylon Spinach
ชื่อสามัญไทย : ผักปลังขาว , ผักผลังแดง, ผักปลังใหญ่
ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ : โปเด้ง ฉ้าย (จีน) เหลาะขุ่ย (แต้จิ๋ว) ลั่วขุย (จีนกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาตร์
ผักปั๋ง เป็นไม้เลื้อย สำต้นกลม อวบน้ำสีเขียว และสีม่วงอมแดง ไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขาได้ยาวหลายเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับตามข้อ ลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลมโคนใบเว้าสีเขียวเป็นมัน ยาว 2.5-7.5 ซม. กว้าง 2-6 ซม. ก้านใบสีเขียว และสีแดงอวบน้ำ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาว 5-10 ซม. ไม่มีก้านดอกย่อย กลีบดอกมี 5 กลีบ ติดกันอยู่ที่ฐานปลายแยกมีใบประดับ 2 ใบเล็ก ๆ ติดอยู่ที่ฐานดอกสีขาวสีชมพูและสีขาวอมชมพู ผลกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มม. ผลแก่มีสีม่วงดำ เนื้อนิ่มภายในมีน้ำสีม่วงดำ
ตำนาน ความเชื่อพื้นบ้าน และการนำไปใช้ในพิธีกรรมของชาวเหนือ
ชาวเหนือเชื่อว่า ผู้ที่มีคาถาอาคมจะไม่รับประทานผักปั๋ง เนื่องจากเชื่อว่าทำให้คาถาอาคมเสื่อม เพราะว่าเป็นผักที่นำไปช่วยให้สตรีคลอดบุตรง่ายขึ้น ใช้ทำแกงได้โดยโขลกพริกและใส่มะขามหรือมะนาวด้วย หรือจะเจียวผักปั๋งไม่ใส่พริก แต่ใช้พริกสดปิ้งไฟใส่ไปในหม้อแกงด้วย เชื่อว่าให้แม่มานกินแกงผักปั๋งทุกวันเดือนดับเดือนเต็ม จะทำให้คลอดลูกง่ายทำให้ลื่นไหลเหมือนกับผักปั๋ง
หรือในกรณี “ บ่วงเครือผักปั๋ง “ โดยใช้เครือผักปั๋งมาพันเกี้ยวกัน ทำให้เป้นบ่วงขนาดที่หญิงแม่มานลอดได้เอาบ่วงผักปั๋งนี้แช่น้ำอาบในวันเดือนดับเดือนเต็ม หลังจากที่อาบน้ำเสร็จแล้วให้นำบ่งผักปั๋งนั้นสวมหัวลงให้ผ่านจนถึงเท้าจะทำให้คลอดง่ายไม่มีติดขัด การที่ให้ทำเช่นนี้ก็เป็นเพราะต้องการให้กำลังใจแก่หญิงแม่มาน ทำให้จิตใจสบายไม่กังวลกลัวเจ็บในเวลาที่จะคลอดบุตร
นอกจากนี้ ชาวเหนือยังใช้ผักปั๋งในพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อป้องกันผีตายโหง และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายแล้ว
การปลูกและขยายพันธุ์
ผักปั๋งเป็นพืชเขตร้อนแถบทวีปเอเซีย แบะแอฟริกา ผักปั๋งในเมืองไทยมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ ผักปั๋งขาวกับผักปั๋งแดง ชาวเหนือและชาวอีสานนิยมปลูกในบริเวณบ้าน ตามริมรั้วนับเป็นพรรณไม้ที่ปลูกง่าย ชอบดินชื้นแฉะ ขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่งแก่ มักเจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน
ประโยชน์ทางยา
สรรพคุณทางสมุนไพร
    1. แก้อาการปัสสาวะขัด ใช้ใบสด 60 กรัม ต้มกับน้ำดื่มแบบชาต่อหนึ่งครั้ง
    2. แก้อาการท้องผูก นำใบสด หรือยอดอ่อน มาต้มกินเป็นอาหาร
    3. รักษาไส้ติ่งอักเสบ ใช้ต้มสด 60-120 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม
    4. แก้ฝี หรือแผลสด ใช้ใบสดดำพอกตรงบริเวณที่เป็น หรือขยี้ทาก็ได้
    5. แก้อาการอึดอัดแน่นท้อง ใช้ต้นสน 60 กรัม เคี่ยวกับน้ำให้ข้นแล้วดื่ม
    6. รักษาฝีเนื้อร้าย นำใบสดมาตำแล้วพอกบริเวณนั้น เปลี่ยนวันละ 1-2 ครั้ง
ประสบการณ์พื้นบ้าน
    
   หมอเมืองล้านนาใช้ส่วนต่างๆ ของผักปั๋งเป็นยา ดังนี้
   1. ต้น : รสหวานเอียน เป็นยาแก้พิษฝีดาษ แก้อักเสบบวม แก้ท้องผูก ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ เป็นยาระบายแก้อาการอึดอัดแน่นท้อง
   2. ใบ : นำมาตำใช้พอกแผลสด และแก้ฝีเนื้อร้ายแก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน ขับปัสสาวะ แก้ท้องผูก ระบายท้อง แก้บิด
นอกจากนี้ แม่ช่าง (หมอตำแย) ทางภาคเหนือ มักนำใบสด ตำให้ละเอียด คั้นน้ำเมือก เอาน้ำเมือกมาทาบริเวณช่องคลอด เพื่อช่วยให้หญิงมีครรภ์คลอดบุตรง่ายขึ้น รวมทั้งแนะนำให้หญิงมีครรภ์รับประทานผักปั๋งอีกด้วย
หมอเมืองบางท่านใช้ใบผักปั๋ง ตำกับข้าวสารจ้าว พอกแก้โรคมะเฮ็งไข่ปลา(เริม)ได้ด้วย
   3. ดอก : แก้หัวนมแตกเจ็บ ดับพิษ และพิษฝีดาษ แก้โรคเรื้อน โดยการคั้นน้ำจากดอกสด ๆ นำมาทาตรงบริเวณที่เป็น
   4. ราก : ใช้เป็นยาถู หรือนวดให้ร้อน ช่วยทำให้บริเวณนั้นมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ส่วนน้ำที่คั้นจากรากนั้นเป็นยาหล่อลื่นได้อย่างดี และช่วยขับปัสสาวะ
   5. ก้าน : มีสรรพคุณแก้พิษฝี แก้ขัดเบา แก้พรรดึก ลดไข้
   6. ผล : ใช้ผลต้มรับประทานแก้ฝี และใช้ใบกับผลขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย มีลักษณะเป็นแผลไหม้เมื่อทาแล้วจะช่วยบรรเทาอาการ และทำให้รู้สึกเย็นขึ้น
ประโยชน์ทางอาหาร
ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของผักปั๋งรับประทานเป็นผักได้ ออกมาในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาวโดยนำไปต้ม ลวก หรือนึ่งให้สุกรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
 น้ำพริกผักจิ้ม
ชาวเหนือนิยมรับประทานกับน้ำพริกดำ น้ำพริกอ่อง น้ำพริกต๋าแดง
อาหารอื่น ๆ
ชาวเหนือนิยมใช้แกงกับถั่วเน่า จอผักปั๋งใส่มะนาว ดอกนำมาจอกับแหนม ใส่เก๋งแค แก๋งเลียง นอกจากนั้นยังนำยอดอ่อน และดอกอ่อนของผักปั๋งมาแก๋งจิ๊นส้ม แก๋งผักปั๋ง ผัดกับแหนม หรือใส่แก๋งอ่อมหอยได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ผลสุกของผักปั๋งแดงที่มีสีม่วงแดงประกอบด้วยสารแอนโทไซยานิ (anthocyaninx) สีจากผลมักใช้แต่งสีอาหารคาวหวาน โดยนำมาตำให้ละเอียดเติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำจะได้สีม่วงแดงตามต้องการ แล้วจึงนำไปเป็นสีผสมอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ขนมบัวลอย ขนมเปียกปูน ขนมสลิ่ม ขนมน้ำดอกไม้ เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ
ผักปั๋ง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 21 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยโปรตีน 2.0 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.7 กรัม กาก 0.8 กรัม แคลเซียม 4 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม วิตามิน A 9316 IU. วิตามิน B1 0.07 มิลลิกรัม วิตามิน B2 0.20 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1.1 มิลลิกรัม วิตามิน C 26 มิลลิกรัม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น