วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coccinia grandis (L.) Voigt
ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae
ชื่อสามัญ : Ivy Gourd
ชื่ออื่นๆ : ตำลึง (กลาง, นครราขสีมา), ผักแคบ (เหนือ), ผักตำนิน (อีสาน)
ลักษณะพฤกษศาสตร์ : ตำลึงละตำลึงเป็นผักพื้นบ้านหากินได้ทุกหัวระแหง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นตำลึงขึ้นพันไม้อื่นหรือไม่ก็ขึ้นตามริมรั้วจะเรียกผักริมรั้วก็คงไม่ผิด ปกติบ้านใครมีที่มีทางก็แทบไม่ต้องซื้อหาให้เปลือง แต่ถ้าอยู่ในเมืองลองไปเมียงๆมองๆแถวตลาดสดหรือตลาดติดแอร์ดูเถอะ รับรองไม่ผิดหวัง ตำลึงมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก และที่เห็นจะถูกใจคนรักสุขภาพแน่ ๆ ก็คือ ตำลึงมีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ยังให้แคลเซียมอีกด้วย ส่วนใครที่มีปัญหาขับถ่าย น่าลองมารับประทานดู เพราะตำลึงมีกากใยที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี
ตำลึง เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีมือจับ เพื่อเกาะยึดหลักหรือต้นไม้อื่นๆ ลำเถาสีเขียว
ใบ เป็นใบเดี่ยวสลับกันไปตามเถา ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื้อยตื้นๆ หยักเว้า 5 แฉก เส้นใบแยกจากโคนใบที่จุดเดียวกัน 5-7 เส้น ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร
ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ ออกเดี่ยวๆหรือออกเป็นกลุ่ม 2-3 ดอก เป็นไม้ที่ไม่สมบูรณ์เพศ คือ เพศผู้และเพศเมียจะอยู่คนละต้นกัน ซึ่งสังเกตได้จากใบ ถ้าใบหยักมากเป็นเพศผู้ แต่ดอกจะสีขาวทรงกระบอก หัวแฉกเหมือนกัน
ผล มีรูปร่างคล้ายแตงกวา แต่มีขนาดเล็กกว่า ผลที่อ่อนมีสีเขียว และมีลายขาว พอสุกจะกลายเป็นสีแดงสด เนื้อลักษณะสีแดง สามารถรับประทานได้
การขยายพันธุ์ : เมล็ด ใช้เมล็ดจากผลแก่ หยอดลงในหลุม เมื่อต้นกล้างอก หาไม้ปักเป็นหลัก เพื่อให้ตำลึงเลื่อย ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย นอกจากนั้นสามารถนำเถาแก่ปักชำ โดยตัดเถาแก่ขนาด 5-6 นิ้ว ปักในถุงเพาะชำ เมื่อรากและยอดงอก ก็ย้ายไปปลูกในหลุม
การปลูก : พรวนดินให้ร่วนซุยผสมกับปุ๋ยคอก ขุดหลุมและหยอดเมล็ดในหลุม เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกหาไม้มาทำเป็นหลักให้ลำต้นเลื้อยพันบนหลัก ไม้ที่ทำเป็นหลักอาจจะปักพิงกับรั้วทะแยงทำมุม 45 - 60 องศา ในระยะแรกพยายามจัดให้ต้นพันไปที่หลักอย่าให้เลื้อยไปตามผิวดิน หมั่นรดน้ำเช้า - เย็น และให้ปุ๋ยยูเรีย 2 - 3 สัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง เมื่อตำลึงทอดยอดยาว หมั่นเด็ดยอดมารับประทาน จะทำให้เกิดยอดใหม่ขึ้นมาแทน
สรรพคุณทางยาและวิธีใช้
รักษาโรคเบาหวาน : ใช้เถาแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ หรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จะสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ : ควรรับประทานสด ๆ เพราะเอนไซม์ในตำลึงจะย่อยสลายง่ายเมื่อโดนความร้อน
ลดอาการคัน อาการอักเสบเนื่องจากแมลงกัดต่อยและพืชมีพิษ : นำใบตำลึงสด 2-20 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ คั้นเอาน้ำ ทาบริเวณที่เป็นจนกว่าจะหาย (ใช้ได้ดี สำหรับหมดคันไฟ หรือใบตำแย)
แผลอักเสบ : ใช้ใบหรือรากสด ตำพอกบริเวณที่เป็น
แก้งูสวัด, เริม : ใช้ใบสด 2 กำมือ ล้างให้สะอาด ผสมพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน พอกหรือทาบริเวณที่เกิดอาการ
แก้ตาช้ำตาแดง : ตัดเถาเป็นท่อนยาวประมาณ 2 นิ้วนำมาคลึงพอช้ำ แล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา
ทำให้ใบหน้าเต่งตึง : นำยอดตำลึง 1/2 ถ้วย น้ำผึ้งแท้ 1/2 ถ้วย นำมาผสม ปั่นให้ละเอียด พอกหน้า ทิ้งไว้ 20 นาที แล้วล้างออก ทำทุกวันได้จะดีมาก
การปรุงอาหาร
ยอดอ่อนและใบอ่อนของตำลึงนำไปลวกและนึ่งเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและนำไปปรุงอาหารเป็นแกงเลียง แกงจืด ผัก บางท้องถิ่นชาวบ้านนำผลอ่อนของตำลึงไปดองและนำไปรับประทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกงได้ ยอดอ่อนของตำลึงเป็นผักที่คนไทยนิยมรับประทาน มีจำหน่ายในตลาดสดทุกภาคของเมืองไทย
ตำลึงยังมีประโยชน์ ดังนี้ คือ ใบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน ดับพิษฝี แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน ดอก แก้คัน เมล็ด ตำผสมน้ำมันมะพร้าวทาแก้หิด เถา ใช้น้ำจากเถาหยดตา แก้ตาฟาง ตาแดง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ดับพิษ แก้อักเสบ ชงกับน้ำดื่มแก้วิงเวียนศีรษะ ราก ดับพิษทั้งปวง แก้ตาฝ้า ลดไข้ แก้อาเจียน น้ำยาง,ต้น,ใบ,ราก แก้โรคเบาหวาน หัว ดับพิษทั้งปวง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น